Saturday, July 20, 2013

การปลูกกล้วยน้ำว้า

เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยได้มีการลงนามทำสัญญาการซื้อขายสินค้าเกษตรจำนวน 7 ชนิด ด้วยกันกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แก่ กะหล่ำปลี กล้วยน้ำว้า ถั่วลิสง ถั่วเหลือง เม็ดละหุ่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมะขามเปียก
เนื่องจากพืชการเกษตรเหล่านี้ประเทศไทยเริ่มมีการขาดแคลน ด้วยพื้นที่เพาะปลูกเริ่มลดน้อยลง ประกอบกับราคาแรงงานภาคการเกษตรของไทยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศสาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว แต่ถึงกระนั้นหากพิจารณากันถึงพื้นที่ที่สามารถนำมาเพาะปลูกได้ ประเทศไทยก็ยังมีพื้นที่อีกมากที่ยังว่างเปล่าอยู่โดยที่ไม่มีพืชใด ๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคอีสาน ก็สามารถที่จะนำกล้วยน้ำว้า พืชที่เคยมีชื่อเสียงของไทยมานมนานนำมาปลูกและสามารถให้ผลผลิตที่คุ้มค่าโดยที่การลงทุนไม่สูงและดูแลไม่มากนัก อย่างที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ศรีสะเกษ มีการศึกษาปลูกกล้วยในพื้นที่ดินแบบอีสาน พบว่าสามารถทำได้และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
ในการศึกษาทดลองพบว่า เบื้องต้นในการปลูกกล้วยน้ำว้านอกจากมีพื้นที่แล้วก็คือ ควรปลูกในฤดูฝน และพูนดินกลบโคนต้นให้สูงเพื่อป้องกันน้ำขัง ส่วนในฤดูอื่น ๆ  ไม่ควรพูนดินกลบโคนให้สูงนัก เพราะไม่ต้องการให้น้ำไหลออก ถ้าต้องการให้กล้วยออกปลีไปทิศทางเดียวกันก็หันรอยแผลที่เกิดจากการแยกหน่อกล้วยไปในทิศทางเดียวกัน การขยายพันธุ์ก็ใช้หน่อ  ซึ่งหน่อจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ หน่ออ่อน เป็นหน่อที่มีอายุน้อยมาก ยังไม่มีใบ หน่อใบแคบ เป็นหน่อที่มีใบบ้าง แต่ใบเรียวเล็ก ชาวบ้านเรียกว่า หน่อดาบ และหน่อใบกว้าง เป็นหน่อที่มีใบบาง เป็นใบโตกว้างคล้ายใบจริงส่วนมากเป็นหน่อที่เกิดจากตาของเหง้าที่อยู่ใกล้ผิวดิน หากจะเร่งการเจริญเติบโตก็ให้ใส่ปุ๋ยซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของกล้วยมาก  จะช่วยให้ลำต้นอวบแข็งแรงตกเครือเร็วและได้ผลโต
การเจริญเติบโตของกล้วยมี 3  ระยะ คือ ระยะที่ 1 เริ่มนับตั้งแต่ต้นกล้วยตั้งตัวหลังการปลูก ระยะนี้เป็นเวลาที่ต้นกล้วยต้องการอาหารมากเครือหนึ่ง ๆ จะมีกล้วยกี่ผลนั้น อยู่ที่ความสมบูรณ์ของดินระยะนี้  ระยะที่ 2 อยู่ในระหว่างหลังตั้งตัวได้จนถึงก่อนตกเครือเล็กน้อย ระยะนี้กล้วยไม่ใช้อาหารมากอาหารต่าง ๆ  จะถูกใช้โดยหน่อที่แตกขึ้นมา ระยะที่ 3 เป็นระยะที่แก่ เป็นระยะที่กล้วยต้องการมากเหมือนกันเพื่อนำไปบำรุงผล ให้โตขึ้น
ต้นกล้วยต้องมีอาหารสำรองอยู่มาก ๆ  จึงจะสามารถให้กล้วยเครือโต ๆ ได้จากระยะการเจริญเติบโตดังกล่าว การใส่ปุ๋ยจึงควรใส่ครั้งแรก 1 อาทิตย์  หลังจากปลูก ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากครั้งแรกประมาณ 1 เดือน และครั้งที่ 3  ใส่หลังจากครั้งที่  2 ประมาณ 1 เดือน ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักก็ได้หรืออาจจะใช้ปุ๋ยเคมีชนิดที่ใช้กับไม้ผลทั่วไป เช่น สูตร 15-15-15, 13-13-21 เป็นต้น  โดยใส่ต้นละ 1 กิโลกรัม แบ่งใส่ 2 ครั้ง คือเมื่อกล้วยมีอายุได้ 2 เดือน และ 5 เดือน  ตามลำดับ
เมื่อปลูกกล้วยน้ำว้า ได้ประมาณ 5–6 เดือน หน่อใหม่จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่กล้วยจะตกเครือเล็กน้อยควรเลือกไว้เพียง 2 หน่อแรกก็พอ เพื่อแทนต้นแม่เดิม หน่อที่เลือกควรอยู่ตรงข้ามกันของลำต้นเดิมหน่อพวกนี้มีรากลึกและแข็งแรง   ถือว่าดีที่สุด  ส่วนหน่อที่เกิดมาทีหลังเรียกว่า หน่อตาม ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นมาจะทำให้กล้วยเครือเล็กลงจึงควรทำลาย
การกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปลูกกล้วยน้ำว้า โดยเฉพาะพืชใบแคบจะแย่งอาหารเก่ง ทำให้กล้วยได้รับอาหารไม่เต็มที่ การเจริญเติบโตจะไม่ดี  แต่ในการกำจัดวัชพืชโดยวิธีการพรวนดิน ไม่สมควรกระทำเพราะรากกล้วยมีระบบการแผ่กระจายอยู่ใกล้กับผิวดินมาก จึงควรเลี่ยงมาใช้การถากหรือถางวัชพืช ใช้วิธีการถอนจะดีที่สุด หากจะปลูกพืชแซมในระหว่างแถวกล้วย  หรือพืชคลุมดินควรเป็นพืชตระกูลถั่วเช่น ถั่วเขียว  นอกจากจะช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชแล้วก็ยังเป็นการบำรุงดินอีกทางหนึ่งด้วย
วันนี้ประเทศไทยขาดแคลนกล้วยน้ำว้าต้องนำเข้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ฉะนั้นเรื่องตลาดจึงไม่ต้องกังวล.

No comments:

Post a Comment